จำนวนผ้ชม

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ภูมิปัญญาไทย

เมื่อถึงเทศกาล สงกรานต์ ซึ่งถือเป็น เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ของชาว ล้านนา ทุกคนมีความสุข สนุกสนานเบิกบานใจ แต่ก็ไม่ลืมที่จะทำอะไร หลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เกิด สิริมงคลแก่ชีวิต โดยที่ การกระทำบางอย่าง พบว่า มีเรื่องของต้นไม้ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในด้านของความเชื่ออยู่ ค่อนข้างมาก

นิทานจากพรหมจักร ชาดก ชาดกล้านนาเรื่อง "อุสสาบารส" กล่าวถึง เรื่องของส้มป่อยว่า ครั้งหนึ่ง มีควายชื่อทรพี คิดอยากเอาชนะพ่อ จึง ท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสอง ต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูก ทรพาไล่ขวิดจนถอยร่น ไปไกล ขณะนั้นเองทรพี ได้ถอยไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชน อย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพี จึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อเสียที หมด แรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพี ผู้เป็นลูกฆ่าตาย ในที่สุด เรื่องนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอนุภาพ ของน้ำส้มป่อย

ในวรรณกรรมชาดกเรื่อง "ปุณณนาคกุมาร" ตอนที่ ปุณณนาคกุมารเข้ากราบทูลพระบิดาเพื่อขออนุญาตทิ้ง สภาวะอันเป็นนาคให้กลายเป็นมนุษย์ พระบิดาทรงอนุญาต และได้ประทานขันทองคำให้ ๑ ใบ แล้วให้หาส้มป่อยให้ได้ฝัก ที่มี ๗ ข้อ จำนวน ๗ ฝัก เอาแช่ในขันที่มีน้ำจาก ๗ แม่น้ำ และ ๗ บ่อ นำไปที่ฝั่งแม่น้ำใหญ่ เสกคาถา ๗ บท จำนวน ๗ คาบ ถอดคราบออก และอาบน้ำมนต์พร้อมสระเกล้าดำหัว จากนั้นเอาคราบนาคนั้นใส่ในขันทองคำไหลลงน้ำเสียจึงจะ เป็นคนโดยสมบูรณ์ การใช้ส้มป่อยที่ปรากฏในเรื่องนี้ ก็แสดง ให้เห็นถึงความเชื่อในคุณสมบัติของส้มป่อยอีกเรื่องหนึ่ง





ส้มป่อย เป็นพืชประเภทไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Acacia rugata Merr. ในวงศ์ Leguminosae ต้นและใบคล้ายชะอม มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านจะใช้ยอดอ่อนใส่แกงให้ได้รสเปรี้ยว แทนมะนาว ชาวบ้านนิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้ม ส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่นส้มป่อย มี ผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉา หรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่า จะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน นิยม ใช้ฝักแห้งของส้มป่อยแช่น้ำ สำหรับเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในพิธีกรรมรดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล สรรพคุณทางยา ต้น แก้น้ำตาพิการ ใบ แก้โรคตา เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ชำระเมือกมันใน ลำไส้ แก้บิดฟอกล้างประจำเดือน ดอก รักษาโรคเส้นพิการ ผล ใช้แก้น้ำลายเหนียว ราก ใช้แก้ไข้ ฝักแห้ง นำไปปิ้งให้เหลืองชงน้ำจิบแก้ไอและขับเสมหะ เป็น ยาทำให้อาเจียน ใช้ฟอกผมแก้รังแค ช่วยให้ผมดกดำเป็น เงางาม ไม่แตกปลาย แก้ไข้จับสั่น แก้โรคผิวหนัง เมล็ด นำไปคั่วแล้วบด ให้ละเอียดใช้นัตถุ์ให้คันจมูก ทำให้จามดี ส่วนใบ ตำให้ละเอียดใช้ประคบช่วยคลายเส้นได้

ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนยกย่องให้มีคุณค่าควร แก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถ ขจัดสิ่ง ชั่วร้ายเภทภัยต่างๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้

วิถีชีวิตชาวชนบทล้านนา กลมกลืน สอดคล้องกับ ธรรมชาติ ความเชื่อและแนวปฏิบัติจึงได้รับอิทธิพลจากสิ่ง รอบตัว ถูกนำ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณค่าสำคัญ ของธรรมชาติเกิดจากใจ ที่มีแรงศรัทธาและความเชื่อมั่น หลายอย่างจึงบังเกิดผลดีและถ่ายทอดให้ถือปฏิบัติสืบมา
นอกจากนี้ ส้มป่อยยังผูกพันเกี่ยวข้องกับชาวชนบท ล้านนา ในเรื่องพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ชาวบ้านเชื่อว่า ส้มป่อย เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลด ปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต

โดยเฉพาะคนล้านนามีความเชื่อตามชาดกว่าเป็นพืช ที่มีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เรียกตามภาษาถิ่นว่า ส้มป่อย เป็นตัวแพ้ สิ่งจัญไร อัปมงคล ชั่วร้าย (แพ้ เป็นภาษาถิ่น เหนือ หมายถึง ชนะ) และคำว่า ป่อยหมายถึงปลดปล่อย สิ่งจัญไรทั้งหลายให้หลุดพ้นจากชีวิตคนเรา ชาวบ้านจะเก็บ ฝักส้มป่อยในช่วงเดือน ๕ เป็ง หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน เรียกส้มป่อยที่เก็บใน เดือนนี้ว่า ส้มป่อยเดือน ๕ จะทำให้ได้ ส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งขึ้น

เมื่อได้เวลาเก็บ ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่ แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้า ไว้ใช้ ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีมงคลและอัปมงคล ก่อนนำไปใช้จะ นำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมี กลิ่นหอมเปรี้ยว จากนั้นหักฝักส้มป่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำ จะได้น้ำส้มป่อย ที่มีสีเหลืองอ่อนๆ สำหรับใช้ ในพิธีกรรมสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในด้านการปฏิบัติ ชาวล้านนานิยม ใช้ส้มป่อยมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเทศกาล สงกรานต์ สำหรับวิธีการใช้จะใช้ฝักแห้งของส้มป่อยปิ้งไฟให้ หอมแช่ลงในน้ำสะอาด ที่มีผงขมิ้นละลายเจืออยู่ เรียกน้ำนี้ ว่า "น้ำขมิ้นส้มป่อย" แต่ระยะหลังนี้ ไม่ค่อยปรากฏการใช้ ขมิ้นอีก แต่นิยมเติมน้ำอบน้ำหอมและเกสรแห้งของดอกไม้ หอม เช่นดอกสารภี ดอกคำฝอยเป็นต้น

น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ชำระสิ่งชั่วร้าย จากพระสงฆ์หรือปู่ อาจารย์ที่นับถือ นอกจากคาถาที่ร่ายเป่าลงไปแล้ว ในน้ำยังมี สิ่งสำคัญ ที่ก่อเกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ศรัทธา คือส้มป่อย เป็น ส่วนผสมหนึ่งด้วย

พิธีการสำนึกบุญคุณและขอขมาผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือการดำหัวในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ผู้น้อยถือขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำส้มป่อย ที่ผู้ใหญ่ใช้ ลูบหัวหลังเสร็จการให้พร แล้วสะบัดพรมให้ลูกหลาน เพื่อ เป็นสิริมงคลทั้งตนเองและผู้ที่รัก

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อยใส่น้ำอบน้ำหอม เพื่อสรงน้ำพระ ในวันปี๋ใหม่เมือง เช่นกัน
ประเพณีงานบุญที่พ่อแม่ทุกคนต่างรอคอยโอกาส สร้างกุศลใหญ่ เพื่อปรารถนาให้ลูกชายพาไปพบชีวิตที่ดี ใน โลกหน้าคือการบวชลูกแก้ว (บวชพระหรือเณร) น้ำส้มป่อยก็ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการชำระล้างเนื้อตัว ให้บริสุทธิ์ก่อน เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ปฏิบัติธรรม

เหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อาจหลีกพ้นได้ คือ ความตาย น้ำส้มป่อยก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในงาน ใช้อาบน้ำศพ เพื่อ ให้ผู้จากไปได้พบสิ่งดีสู่สุคติ นำร่างไปเผาที่ป่าช้า กลับมา ผู้ที่ยังอยู่จะใช้น้ำส้มป่อยล้างมือ ลูบผมเพื่อป้องกัน สิ่งชั่วร้าย และไล่เสนียดจัญไรออกจากตัว ถ้าเป็นการเผาผีตายโหง ฝัก ส้มป่อยที่นำติดตัวสามารถล้างอาถรรพ์ จากผีไม่ให้ติดตามมาได้

การสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ ประกอบพิธีไหว้ครู เช่น ครูซอ ครูหมอเมือง (หมอสมุนไพรพื้นบ้าน) หรืออื่นๆ ล้วน มีน้ำส้มป่อย เข้ามาช่วยให้ขลัง

ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า ถ้าใครไปทำสิ่งไม่ดีที่เรียกว่า ขึด ทำให้ตนเจอะเจอความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล สิ่งที่ช่วยให้ บรรเทาเบาบางลงคือ น้ำส้มป่อย

ครูอาจารย์ ผู้มีเวทมนตร์คาถา ที่นั่งผีปู่ย่า (คนทรง) เมื่อทำผิดข้อห้ามของครูอาจารย์ บรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า ผิดครู หรือบุคคลที่มีคาถาอาคมที่บังเอิญไปลอดราวตากผ้า หรือร้านบวบ (เชื่อว่าจะทำให้คาถาอาคมเสื่อม) น้ำส้มป่อยก็ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และมีของดีในตัวได้ดังเดิม

ส้มป่อย กับวิถีชีวิตชาวชนบทล้านนาเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันมาช้านาน เกือบจะทุกขั้นตอนในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เกิด มาจนกระทั่งหมดลมหายใจ

การเคารพความยิ่งใหญ่ในธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มองไม่เห็น ก่อให้เกิดพลังศรัทธากลายเป็น ความเชื่อมั่น นำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผล ดังนั้น ผู้คนจึงยกให้ส้มป่อย เป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรคู่ชีวิตชาวล้านนา ตลอดไป


ที่มา : วารสารวัฒนธรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น